เมนู

อธิบายว่า โพชฌงค์ 7 ของพระอริยบุคคลผู้มีจิตตั้งมั่นดีแล้ว ใน
สติปัฏฐานทั้งหลาย ย่อมถึงความบริบูรณ์ด้วยภาวนาแน่นอน มรรคอันประกอบ
ด้วยองค์ 8 อันประเสริฐ ก็เหมือนกัน.
สมจริงดังที่พระธรรมเสนาบดี สารีบุตร กล่าวไว้ว่า ในบรรดา
โพธิปักขิยธรรม 37 ประการ อันประกอบด้วยโกฏฐาส 7 เมื่อโกฏฐาส
หนึ่ง ถึงความบริบูรณ์แห่งภาวนา ขึ้นชื่อว่าโกฏฐาสนอกนี้ จะไม่ถึงความ
บริบูรณ์ด้วยภาวนาไม่มี เพราะพระบาลีมีอาทิว่า พระอริยบุคคลผู้มีจิตตั้งมั่น
ดีแล้ว ในสติปัฏฐาน 4 ยังโพชฌงค์ 7 ให้เจริญแล้ว ตามความเป็นจริง
ดังนี้. บทว่า ภาวยํ ความว่า มีการเจริญเป็นเหตุ. คำที่เหลือมีนัยดังกล่าว
แล้วทั้งนั้น.
จบอรรถกถาโสภิตเถรคาถา

4. วัลลิยเถรคาถา


ว่าด้วยคาถาของพระวัลลิยเถระ


[280] ได้ยินว่า พระวัลลิยเถระได้ภาษิตคาถานี้ไว้ อย่างนี้ว่า
สิ่งใดอันบุคคลผู้มีความเพียรมั่นพึงทำ กิจใดอัน
บุคคลผู้ปรารถนาจะตรัสรู้พึงทำ เราจักทำกิจนั้น ๆ
ไม่ให้ผิดพลาดตามคำพร่ำสอน ขอท่านจงดูความเพียร
ความบากบั่นของเรา อนึ่ง ขอท่านจงบอกหนทางอัน
หยั่งลงสู่อมตมหานิพพานให้เรา เราจักรู้ด้วยปัญญา
เหมือนกระแสแห่งแม่น้ำคงคาไหลไปสู่สาคร ฉะนั้น.

อรรถกถาวัลลิยเถรคาถา


คาถาของท่านพระวัลลิยเถระ เริ่มต้นว่า ยํ กิจฺจํ ทฬฺหวิริเยน.
เรื่องราวของท่านเป็นอย่างไร ?
แม้พระเถระนี้ ก็เป็นผู้มีอธิการอันกระทำแล้วในพระพุทธเจ้าองค์-
ก่อน ๆ สั่งสมบุญไว้ในภพนั้น ๆ เกิดในตระกูลพราหมณ์ ในกาลของพระผู้มี
พระภาคเจ้า ทรงพระนามว่า สุเมธะ บรรลุนิติภาวะแล้ว ถึงความสำเร็จ
ในวิชาและศิลปศาสตร์ ละสมบัติ 80 โกฎิ บวชเป็นดาบส ให้เขาสร้าง
อาศรมไว้ที่ริมฝั่งน้ำแห่งหนึ่ง ที่ชัฏป่าใกล้เชิงเขา แล้วอยู่ เห็นพระศาสดา
ผู้เสด็จเข้าไป เพื่อจะทรงอนุเคราะห์ตน มีใจเลื่อมใส ลาดหนังเสือ (เป็น
อาสนะ) ถวาย บูชาพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ประทับนั่งบนหนังเสือนั้น ด้วย
ดอกไม้และจันทน์ ถวายผลมะม่วง แล้วถวายบังคมด้วยเบญจางคประดิษฐ์.
พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงประกาศสมบัติอันจะพึงได้ เพราะถวายอาสนะที่
ประทับนั่ง ทรงกระทำอนุโมทนาแก่ดาบสแล้วเสด็จหลีกไป.
ด้วยบุญกรรมนั้น เขาท่องเที่ยวไปในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เกิดใน
ตระกูลพราหมณ์ ในพระนครไพศาลี ในพุทธุปบาทกาลนี้ ได้นามว่า กัณหมิตร
เจริญวัยแล้ว เห็นพุทธานุภาพในคราวที่พระศาสดาเสด็จไปพระนครไพศาลี
ได้มีจิตศรัทธาบวชในสำนักของพระมหากัจจานเถระ ท่านเป็นผู้มีปัญญาอ่อน
และย่อหย่อนในความเพียร อาศัยเพื่อนสพรหมจารี ผู้มีความรู้อยู่ตลอดกาลนาน.
ภิกษุทั้งหลาย ก็เรียกท่านตามลักษณนิสัยว่า วัลลิยะ นั้นเทียว
เพราะเหตุที่ท่านไม่อาศัยภิกษุผู้เป็นบัณฑิตบางรูป ก็ไม่สามารถจะเจริญ
งอกงามได้ เหมือนเถาวัลย์ ถ้าไม่อาศัยบรรดาพฤกษชาติ มีต้นไม้เป็นต้น